top of page

กฎบัตรคณะกรรมการสรรหา
ของ
บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จํากัด (มหาชน)

(แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551)

               1. บทนำ               

               คณะกรรมการสรรหา จัดตั้งขึ้นตามมติของคณะกรรมการ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จํากัด (มหาชน)              “คณะกรรมการ” ในการประชุม ครั้งที่ 1/2549 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 

               2. ความมุ่งหมาย          

               บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จํากัด (มหาชน) “บริษัทฯ” มีความแน่วแน่ที่จะดํารงไว้ซึ่งการ จัดการที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลที่ดีที่สุด เป็นที่ยอมรับจากผู้ลงทุนและ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั่วไปอยู่เสมอว่าเป็นกิจการที่มีระบบ   

การกํากับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) 
               การจัดให้มีระบบคณะกรรมการสรรหา (Nominating Committee) เป็นส่วนหนึ่งของการกํากับดูแล กิจการที่ดีของ  บริษัทฯ โดยคณะกรรมการสรรหา เป็นเครื่องมือหรือกลไกที่สําคัญอันหนึ่งที่จะช่วยแบ่งเบา ภาระของคณะกรรมการและผู้ถือหุ้น ในการทําหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเข้ารับเลือก ตั้งเป็นกรรมการ หรือกรรมการผู้จัดการ โดยให้มีการ     

กําหนดวิธีการสรรหากรรมการ หรือกรรมการผู้จัดการ อย่างมีหลักเกณฑ์ และโปร่งใส เพื่อเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือที่ประชุมคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี เพื่อ พิจารณาเลือกตั้งต่อไป 

               3. การแต่งตั้ง          

               คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา (Nominating Committee) ประกอบด้วย กรรมการอย่างน้อยสามคนเป็นคณะกรรมการสรรหา และกรรมการสรรหาอย่างน้อยหนึ่งคน ต้องเป็นกรรมการอิสระ 

               คณะกรรมการจะแต่งตั้งกรรมการสรรหาที่เป็นกรรมการอิสระคนหนึ่งเป็นประธานคณะกรรมการสรรหา และให้กรรมการผู้จัดการเป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหา 

               4. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม 

               กรรมการสรรหาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้ 

               (1) เป็นกรรมการบริษัท และไม่ใช่ประธานกรรมการบริษัทหรือกรรมการผู้จัดการ
               (2) สามารถอุทิศเวลาอย่างเพียงพอในการดําเนินงานของคณะกรรมการสรรหา 
               (3)กรรมการอิสระอย่างน้อยหนึ่งคนนั้น  มีความเป็นอิสระเทียบเคียงได้กับความเป็นอิสระของ 
กรรมการตรวจสอบ ตามกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ 

               

               5. หน้าที่และความรับผิดชอบ

               คณะกรรมการสรรหามีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้ 

               (1) คัดเลือก สรรหา วางแผนการสืบทอดตําแหน่ง บุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ หรือกรรมการผู้จัดการ โดยกําหนดวิธีการสรรหาอย่างมีหลักเกณฑ์และ โปร่งใส รวมทั้งจากรายชื่อต่าง ๆ ที่ผู้ถือหุ้นแนะนํา (ถ้ามี) 

​               บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ความเป็นอิสระ ปฏิบัติหน้าที่ กรรมการด้วยความระมัดระวัง ด้วยความซื่อสัตย์ (Duty of Care and Duty of Loyalty) สามารถทุ่มเทอุทิศ เวลาได้อย่างเต็มที่ มีอายุที่เหมาะสม มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และจิตใจที่สมบูรณ์ สามารถเข้าร่วม ประชุมคณะกรรมการสรรหาอย่างสม่ําเสมอ มีการเตรียมตัวเป็นการล่วงหน้าก่อนการประชุมเป็นอย่างดี มี ส่วนร่วมที่สร้างสรรค์ในการประชุม มีความตรงไปตรงมา มีความกล้าหาญในการแสดงความคิดเห็นในที่ ประชุม และ/หรือ เป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง ประวัติการทํางาน และจริยธรรมที่ดีงาม และได้รับการยอมรับ จากสังคม เป็นต้น 

               ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาจะให้ความสําคัญต่อผู้ที่มีทักษะ ประสบการณ์ วิชาชีพ คุณสมบัติเฉพาะ ในด้านต่าง ๆ

ที่มีความจําเป็นอย่างยิ่งต่อธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อให้องค์ประกอบของคณะกรรมการ มีความสมบูรณ์และเป็นประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ จะพิจารณาถึงการที่กรรมการดํารงตําแหน่งกรรมการ บริษัทหลายแห่งในขณะเดียวกันด้วยว่าจะมีผลกระทบต่อ บริษัทฯ หรือไม่ และคํานึงถึงโอกาสที่อาจมี ปัญหาในเรื่องของผลประโยชน์ขัดกัน (Conflict of Interest) ของกรรมการและกรรมการผู้จัดการด้วย

               (2) จัดเตรียมบัญชีรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ หรือกรรมการผู้จัดการไว้เป็น การล่วงหน้า และ/หรือ ในกรณีที่มีตําแหน่งกรรมการ หรือกรรมการผู้จัดการว่างลง

               (3) ขอรับข้อคิดเห็นต่าง ๆ จากคณะกรรมการ และ/หรือ กรรมการผู้จัดการ (ถ้ามี) เพื่อประกอบ การพิจารณาคัดเลือก

สรรหาด้วย ก่อนนําเสนอให้คณะกรรมการ หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น แล้วแต่กรณี พิจารณาเลือกตั้งต่อไป 

               (4) กําหนด Performance Agreement แต่ละปีของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และกรรมการผู้จัดการ เพื่อเสนอคณะกรรมการพิจารณา และกําหนดแบบประเมินผลการปฏิบัติงานดังกล่าว

               (5) พิจารณาเสนอรายชื่อกรรมการที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นอนุกรรมการ เสนอต่อคณะกรรมการ เพื่อแต่งตั้ง เมื่อมี

ตําแหน่งว่างลง 

               (6) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายอันเกี่ยวเนื่องกับการสรรหากรรมการและกรรมการผู้จัดการ 

               ในการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อนี้ คณะกรรมการสรรหา อาจจะขอรับความเห็นที่เป็นอิสระจากที่ปรึกษาทางวิชาชีพอื่นใด

เมื่อเห็นว่ามีความจําเป็น รวมทั้งให้กรรมการสรรหาได้รับการอบรมและเสริมสร้าง ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อการดําเนินงานของคณะกรรมการสรรหาได้ด้วย โดยบริษัทฯ เป็นผู้รับค่าใช้จ่าย 
               คณะกรรมการสรรหามีความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ต่อคณะกรรมการโดยตรง และคณะกรรมการมีความรับผิดชอบในการดําเนินการทุกประการของ บริษัทฯ ต่อบุคคลภายนอก

               6. วาระและค่าตอบแทน 

               กรรมการสรรหามีวาระอยู่ในตําแหน่งคราวละสามปี นับแต่วันแต่งตั้ง เมื่อมีกรรมการสรรหาพ้นจากตําแหน่ง หรือมีเหตุใดที่กรรมการสรรหาไม่สามารถอยู่ได้จนครบวาระ คณะกรรมการจะต้องแต่งตั้งกรรมการสรรหารายใหม่แทนให้ครบถ้วนอย่างช้าภายในสามเดือน นับแต่วันที่จํานวนสมาชิกไม่ครบถ้วน 

               ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งแทนอยู่ในตําแหน่งเพียงเท่าวาระของกรรมการสรรหาที่พ้นจากตําแหน่งเหลืออยู่ 

               เมื่อครบกําหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการสรรหาขึ้นใหม่ ให้กรรมการสรรหาซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตําแหน่ง เพื่อดําเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการสรรหาซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่ 

               *กรรมการสรรหาซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ ให้สอดคล้องกับการดํารงตําแหน่งของคณะกรรมการบริษัท 
*แก้ไขเพิ่มเติม ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2551 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 

                    นอกจากการพ้นจากตําแหน่งตามวาระแล้ว กรรมการสรรหาพ้นจากตําแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 4. 
               คณะกรรมการสรรหาจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับหน้าที่และความรับผิดชอบ โดยได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น และ บริษัทฯ ต้องเปิดเผยค่าตอบแทนไว้ในรายงานประจําปีของ บริษัทฯ ด้วย 

 

               7. การประชุม 

               คณะกรรมการสรรหาต้องประชุมอย่างน้อยปีละครั้ง

               การประชุมคณะกรรมการสรรหาต้องมีกรรมการสรรหามาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวน กรรมการสรรหาทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการสรรหาไม่อยู่ในที่ประชุมให้กรรมการ สรรหา ที่มาประชุมเลือกกรรมการสรรหาคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม 

               การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการสรรหาคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ทั้งนี้ เลขนุการคณะกรรมการสรรหาไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน 

               กรรมการสรรหาผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใด หรือมีส่วนได้เสียใด ๆ ในเรื่องที่พิจารณา จะเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น ๆ ไม่ได้ 

               คณะกรรมการสรรหามีอํานาจเชิญฝ่ายจัดการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่เห็นสมควร เข้าร่วมประชุม หรือขอให้ชี้แจงในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้ 

 

               8. การรายงาน 

               คณะกรรมการสรรหาต้องรายงานผลการประชุม หรือรายงานอื่นใดที่เห็นว่าคณะกรรมการควร ทราบต่อคณะกรรมการเป็นประจํา

 

               9. วันที่ใช้บังคับ

               กฎบัตรนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 เป็นต้นไป 

นายประกิต  ประทีปะเสน
ประธานคณะกรรมการ
บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน)

All right Reserved © 2016 by Asimar

bottom of page